ประเภทของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน
ประเภทของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน และตัวอย่างการคำนวณแบบง่ายๆ
เพื่อคนที่ฝันอยากมีบ้านโดยไม่ต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะมีทุนพอ สถาบันการเงินได้มีการนำเสนอ "ดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน" หรือการปล่อยเงินกู้ให้แก่ผู้ที่ต้องการจะนำเงินไปซื้อที่อยู่อาศัย
แต่แน่นอนว่าทุกการกู้ยืมย่อมต้องมีการคิดคำนวณอัตราดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งถ้าหากคุณกำลังสนใจดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านอยู่ล่ะก็
วันนี้เราก็มีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยมาฝากกันด้วยค่ะ
ประเภทของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อมีอะไรบ้าง ?
1.อัตราดอกเบี้ยคงที่
อัตราดอกเบี้ยคงที่ หรือ Fixed Rate Loan คืออัตราดอกเบี้ยแบบตายตัว ซึ่งจำนวนจะยังคงสภาพตามที่ระบุไว้ในสัญญาไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ทั้งนี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยจำแนกประเภทออกไปอีก ดังต่อไปนี้
ดอกเบี้ยคงที่ตลอดระยะเวลากู้
เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ให้ผู้กู้สามารถชำระแต่ละงวดในปริมาณเท่าเดิมทุกครั้ง ตามอายุสัญญาที่กำหนดไว้ โดยไม่มีการปรับขึ้นหรือลง
ดอกเบี้ยคงที่แบบขั้นบันได
การปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามกำหนดทุกช่วงเวลา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการปรับเพิ่มแบบปีต่อปี จากนั้นจึงกลับมาเป็นดอกเบี้ยแบบลอยตัวในภายหลังตามสถานการณ์เศรษฐกิจ
ดอกเบี้ยคงที่ในช่วงแรก
คือการตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระยะแรก โดยอาจมีระยะเวลาให้ 3-5 ปี และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลา การเก็บค่าดอกเบี้ยจะกลับมาเป็นแบบลอยตัวตามเดิมคะ
2.อัตราดอกเบี้ยปรับคงที่ใหม่ทุกรอบเวลา
อัตราดอกเบี้ยปรับคงที่ใหม่ทุกรอบเวลา หรือ Rollover Mortgage คือดอกเบี้ยที่มีการกำหนดอัตราเอาไว้อย่างคงที่ แต่จะมีการปรับสภาพตามรอบเวลาที่กำหนด ยกตัวอย่างเช่น อัตราดอกเบี้ยคงที่ในรอบ 3 ปี หมายความว่า ทุกครั้งที่ครบกำหนด 3 ปี จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยใหม่ โดยอาจปรับเพิ่มหรือลดลงแล้วแต่สถานการณ์
3.อัตราดอกเบี้ยลอยตัว
อัตราดอกเบี้ยลอยตัว หรือ Floating Rate Loan เป็นดอกเบี้ยที่มีความผันผวนเปลี่ยนแปลงตามสภาพเศรษฐกิจ และอิงตามต้นทุนทางการเงินของธนาคาร โดยอาจมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยชนิดเดือนต่อเดือน บางเดือนอาจจะปรับตัวสูงขึ้น หรือบางเดือนอาจจะลดลง อีกทั้งดอกเบี้ยชนิดนี้ยังมีการแบ่งจำพวกออกเป็น 3 ประเภทอีกได้แก่
MRR ( Minimum Retail Rate )
คือ อัตราดอกเบี้ยลอยตัวขั้นต่ำ ที่ทางสถาบันทางการเงินจะเรียกเก็บกับกลุ่มลูกค้ารายย่อยประวัติดี ซึ่งมักมีอยู่ในสินเชื่อส่วนบุคคล หรือ สินเชื่อที่อยู่อาศัย
MLR ( Minimum Loan Rate )
คือ อัตราดอกเบี้ยลอยตัวขั้นต่ำ ที่ทางสถาบันการเงินจะเรียกเก็บกับลูกค้ารายใหญ่ประวัติดี มักใช้กับสินเชื่อธุรกิจ ที่มีสัญญาเงินกู้ระยะยาว
MOR ( Minimum Overdraft Rate )
มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการเบิกเงินเกิน OD เป็นดอกเบี้ยลอยตัวที่จะใช้กับกลุ่ม ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ที่มีวงเงินเบิกเกินบัญชี และมีประวัติการชำระตรงเวลา โดยจะถูกใช้กับสินเชื่อธุรกิจด้วย ทั้งนี้ทางธนาคารจะมีการพิจารณาให้สินเชื่อชนิดนี้อย่างเข้มงวด ถึงคุณสมบัติว่ามีความน่าเชื่อถือมากพอหรือไม่
4.อัตราดอกเบี้ยแบบผสม
อัตราดอกเบี้ยแบบผสม หรือ Rollover Mortgage Loan คือการนำ อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว และ อัตราดอกเบี้ยปรับคงที่ใหม่ทุกรอบเวลา มารวมกัน
โดยมักจะมีลักษณะเป็น ดอกเบี้ยคงที่แบบปกติ หรือ แบบคงที่ใหม่ทุกรอบเวลาในช่วง 1-3 ปีแรก และเมื่อผ่านไปก็จะกลับมาเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวแทน อีกทั้งทางธนาคารยังอาจปรับเพดานดอกเบี้ยเอาไว้ได้อีกเช่นกันคะ
ตัวอย่างการคำนวณอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านแบบง่าย ๆ
โดยพื้นฐานแล้วจะมีหลักการคิดอยู่ทั้งหมด 3 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
ขั้นตอนแรก การคิดคำนวณดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่องวด
ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่องวด = (เงินต้นคงเหลือ x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x จำนวนวันในงวดนั้น) ÷ จำนวนวันใน 1 ปี
ขั้นตอนที่สอง การคำนวณยอดเงินรวมเมื่อจบงวด
ยอดเงินรวมเมื่อจบงวด = เงินต้นคงเหลือ + ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่องวด
ขั้นตอนที่สาม คำนวณเงินต้นคงเหลือ
เงินต้นคงเหลือ = ยอดเงินรวมเมื่อจบงวด – ค่างวดต่อเดือน
ตัวอย่าง
กู้ซื้อบ้าน 1,000,000 บาท กำหนดผ่อนชำระเท่ากันทุกเดือน ตกเดือนละ 10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.00% ต่อปี และเริ่มชำระงวดแรกเดือนมกราคม
การคำนวณในเดือนมกราคม
Step 1 ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่องวด
= (1,000,000 x 3.00% x 31) ÷ 365 = 2,547.94 บาท
Step 2 การคำนวณยอดเงินรวมเมื่อจบงวด
= 1,000,000 + 2,547.94 = 1,002,547.95 บาท
Step 3 เงินต้นคงเหลือ
= 1,002,547.95 - 10,000 = 992,547.95
การคำนวณเงินเดือนกุมภาพันธ์
Step 1 ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่องวด
= (992,547.95 x 3.00% x 28) ÷ 365 = 2,284.21 บาท
Step 2 การคำนวณยอดเงินรวมเมื่อจบงวด
= 992,547.95 + 2,284.21 = 994,832.16 บาท
Step 3 เงินต้นคงเหลือ
= 994,832.16 - 10,000 = 984,832.16 บาท
และเพราะอัตราดอกเบี้ยที่ผันผวนต่างกันไปในแต่ละปี ผู้สนใจจึงควรมีการสอบถามกับธนาคารหรือสถาบันทางการเงินก่อนด้วยนะคะ เพื่อความแม่นยำทางข้อมูลในการมาคำนวณอัตราดอกเบี้ย จะได้ไม่เกิดข้อผิดพลาดในภายหลังค่ะ